top of page
รูปภาพนักเขียนสมภพ แจ่มจันทร์

ข้างหลังภาพนั้นมีความหมาย

อัปเดตเมื่อ 27 พ.ค.

ภาพวาดสีน้ำมันภาพหนึ่ง ในสายตาของปรีดิ์เป็นเพียงภาพธรรมดา ไม่มีอะไรพิเศษ เธอดูแปลกใจหากนพพรผู้เป็นสามีจะซื้อหาและนำมาประดับไว้ในห้อง ก่อนจะรู้ว่าเพื่อนของเขาเขียนให้ แต่ในหัวใจของนพพร ภาพเขียนนี้มีความหมายอย่างยิ่งต่อตัวเขา เพราะมันบรรจุไว้ซึ่งความรู้สึกและเรื่องราวมากมายที่อยู่ข้างหลังภาพซึ่งมีเพียงตัวเขาและผู้เขียนภาพเท่านั้นที่ล่วงรู้


คุณผู้อ่านพอเดาได้ใช่ไหมครับว่าเนื้อหาข้างต้นมาจากนิยายเรื่อง "ข้างหลังภาพ" ของศรีบูรพา ที่ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อเกือบ 80 กว่าปีก่อน (พ.ศ. 2480) และโด่งดังมากในยุคนั้นก่อนที่จะถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์อีกหลายเวอร์ชั่น ผมเคยอ่านหนังสือเล่มนี้ครั้งแรกตอนที่ยังหนุ่มแน่นกว่านี้ และได้หยิบมาอ่านอีกครั้งในวัยที่เข้าใกล้ท่านเจ้าคุณอธิการบดีในเรื่อง ในบทนำที่เปิดด้วยภาพเขียนสีน้ำมันภาพหนึ่ง ชวนผมคิดต่อไปไกลเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ที่เราใช้ในการประเมินค่าสิ่งต่าง ๆ


เราประเมินสิ่งต่าง ๆ ในชีวิตเกือบตลอดเวลา เพื่อให้คุณค่าและความหมายแก่สิ่งเหล่านั้น ตั้งแต่สิ่งทั่วไปในชีวิตประจำวัน ไปจนถึงสิ่งที่ใหญ่กว่านั้น แม้เราจะประเมินสิ่งเดียวกัน แต่ผลของการประเมินก็อาจแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง สิ่งที่มีค่าสำหรับคนหนึ่งอาจดูไร้ค่าสำหรับอีกคน สิ่งที่มีความหมายอย่างยิ่งสำหรับบางคนอาจไร้ความหมายใด ๆ สำหรับคนอื่นที่เหลือ


ปรีดิ์อาศัยเกณฑ์บางอย่างมาประเมินว่าภาพเขียนที่สามีนำมาติดที่ผนังห้องทำงานนั้น "ธรรมดาอย่างที่สุด" และ "มองไม่เห็นความงาม" ในขณะที่นพพร—แม้ส่วนหนึ่งจะเห็นด้วยกับปรีดิ์—ประเมินคุณค่าของภาพนี้จากอีกแง่มุมหนึ่ง เขาประเมินมันจากประสบการณ์ที่ตัวเขามีร่วมกับผู้เขียนภาพ เขารับรู้บางสิ่งที่พ้นไปจากสิ่งที่ปรากฏในภาพวาด ทำให้ภาพวาดสีน้ำมันที่ธรรมดาสามัญนี้มีความหมายมากมายสำหรับเขา เขารู้ดีว่า "ข้างหลังภาพนั้นมีชีวิต" และ "ผู้เขียนได้เขียนภาพนั้นด้วยชีวิต"



การประเมินว่าสิ่งต่าง ๆ "เป็นอย่างไร" (แบบที่ปรีดิ์ทำ) กับการประเมินว่าสิ่งเหล่านี้ "มีความหมายอย่างไร" ต่อตัวเรา (แบบที่นพพรทำ) นั้นมีความแตกต่างกันอย่างยิ่ง การไม่เข้าใจว่าเรากำลังประเมินสิ่งต่าง ๆ จากหลักเกณฑ์ใดหรือจากแง่มุมไหน ย่อมทำให้เกิดความสับสนใจตัวเอง ความไม่เข้าใจซึ่งกันและกัน และบ่อยครั้งความขัดแย้งก็เริ่มต้นขึ้นที่ตรงนี้


การประเมินแบบแรก—สิ่งต่าง ๆ เป็นอย่างไร—นั้นอาศัยหลักเกณฑ์บางอย่างเป็นตัวตั้งเพื่อเปรียบเทียบสิ่งที่เรากำลังประเมินว่าตรงหรือสอดคล้องกับเกณฑ์ที่เรายึดถือหรือไม่ และมากน้อยเพียงใด เช่น เราประเมินว่าอาหารจานนี้รสชาติดีหรือแย่จากเกณฑ์ที่เรามีเกี่ยวกับรสชาติของอาหารซึ่งมาจากประสบการณ์ในอดีตของเรา เราประเมินว่าเพื่อนคนนี้นิสัยดีหรือแย่จากเกณฑ์เกี่ยวกับนิสัยของผู้คนที่เราถูกสั่งสอนมาจากครอบครัว หรือเราประเมินว่าชีวิตตัวเองประสบความสำเร็จหรือไม่จากเกณฑ์เกี่ยวกับความสำเร็จที่สังคมมอบให้กับเรา ฯลฯ


ในขณะที่การประเมินแบบหลัง—สิ่งเหล่านี้ มีความหมายอย่างไรต่อตัวเรา—มาจากการเชื่อมโยงว่าสิ่งที่ถูกประเมินเกี่ยวข้องสัมพันธ์อย่างไรกับตัวเรา เช่น เราประเมินว่าอาหารจานนี้มีความหมายบางอย่าง ไม่ว่ารสชาติของมันจะดีหรือแย่ เพราะมันทำให้เรานึกถึงอาหารแม่ที่เคยทำให้เราทานตอนเป็นเด็ก เราประเมินว่าเพื่อนคนนี้เป็นคนพิเศษสำหรับเราเพราะเขาเคยช่วยเหลือเราในยามยากลำบาก ไม่ว่านิสัยของเขาจะดีหรือแย่ก็ตาม หรือเราประเมินว่างานที่เราทำคืองานที่มีความหมายเพราะมันคือความฝันในวัยเยาว์ ไม่ว่าเราจะประสบความสำเร็จตามเกณฑ์ของคนส่วนใหญ่หรือไม่ก็ตาม ฯลฯ


เราทุกคนล้วนใช้การประเมินทั้งสองรูปแบบข้างต้น ผมไม่คิดว่าการประเมินแบบใดดีกว่าอีกแบบ และไม่ตัดสินว่าเราควรประเมินสิ่งต่าง ๆ จากแง่มุมไหนมากกว่ากัน สิ่งที่สำคัญกว่านั้นคือ การรู้ตัวว่าเรากำลังยึดถือเกณฑ์ข้อใดหรือประสบการณ์ใดในการประเมินสิ่งต่าง ๆ ในชีวิต รวมถึงประเมินตัวเราเอง และการเปิดใจกว้างเพื่อทำความเข้าใจว่าผู้อื่นก็อาจมีเกณฑ์ในการประเมินต่างจากเรา


ผมอ่านนิยายข้างหลังภาพจบไปหลายวันแล้ว แต่เรื่องราวอันเป็นที่มาของภาพเขียนนั้นยังติดตรึงอยู่ในใจ นิยายเรื่องนี้อาจไม่ลุ่มลึกและให้หลักคิดอะไรได้มากเท่านิยายอีกเป็นจำนวนมากที่ผมเคยอ่าน แต่ผมก็ไม่ได้ประเมินมันในแง่นั้น เพียงแค่จินตนาการเกี่ยวกับภาพเขียนสีน้ำที่ปรากฏขึ้นในใจและนำมาสู่การเขียนบทความนี้ ก็นับว่ามันมีความหมายแล้วสำหรับผม


เช่นเดียวกับบทความที่คุณผู้อ่านอ่านมาถึงตอนนี้ มันอาจเป็นบทความที่อ่านไม่รู้เรื่อง ยืดยาววกวนไปมา หรือนำเสนอเรื่องพื้น ๆ ที่รู้กันอยู่แล้ว สำหรับบางคน แต่ในขณะเดียวกัน บทความนี้ก็อาจดึงความสนใจของคนที่ชอบนิยายเรื่องข้างหลังภาพเหมือนกับผม ให้รำลึกถึงช่วงเวลาที่เคยได้อ่านนิยายเรื่องนี้ แค่นี้ก็อาจเพียงพอแล้ว


 

สมภพ แจ่มจันทร์
นักจิตวิทยาการปรึกษา
bottom of page