สื่อสารความต้องการอย่างไรไม่ให้สร้างความขัดแย้งในความสัมพันธ์
- กวีไกร ม่วงศิริ
- 21 ม.ค.
- ยาว 1 นาที
ในฐานะนักจิตวิทยาการปรึกษา ประสบการณ์หนึ่งที่ผมพบว่าน่าสนใจและสามารถพบเห็นได้บ่อยในชีวิตประจำวัน คือแนวคิดเรื่อง "ความต้องการเชิงบวก" หรือ "Positive Need" ซึ่งผมได้เรียนรู้จากคลิปบรรยายเกี่ยวกับการบำบัดคู่รักของ John Gottman และ Julia Gottman แนวคิดนี้อธิบายถึงความต้องการพื้นฐานที่เรามีต่อคู่รักหรือคนใกล้ชิด ซึ่งมักแฝงอยู่ในการสื่อสารของเรา
"ความต้องการเชิงบวก" หมายถึง สิ่งที่เราปรารถนาให้คู่ของเรากระทำหรือแสดงออก เป็นการสื่อสารที่มุ่งเน้นไปที่พฤติกรรมหรือการกระทำที่เราต้องการ ตรงกันข้ามกับ "ความต้องการเชิงลบ" หรือ "Negative Need" ซึ่งเป็นการสื่อสารที่เน้นไปที่การตำหนิ หรือการบอกว่าเราไม่ชอบหรือไม่ต้องการให้คู่ของเราทำอะไร

ตัวอย่างเช่น ประโยคที่ว่า "ทำไมคุณถึงเห็นแก่ตัวแบบนี้ ทำอะไรไม่นึกถึงกันบ้างเลย ฉันไม่ชอบเลยเวลาคุณทำแบบนี้" ประโยคเหล่านี้เป็นการสื่อสารความต้องการเชิงลบ ที่มักก่อให้เกิดความขัดแย้ง แทนที่จะบอกว่า "ฉันอยากให้คุณเลิกทำแบบนี้" ซึ่งเป็น Negative Need เราสามารถเปลี่ยนเป็นการสื่อสารแบบ Positive Need ได้ เช่น "ฉันอยากให้คุณใส่ใจและนึกถึงความรู้สึกของฉันมากขึ้น" ซึ่งเป็นการระบุสิ่งที่ต้องการอย่างชัดเจนและสร้างสรรค์
ความแตกต่างระหว่างการสื่อสารความต้องการเชิงบวกและเชิงลบนั้นอยู่ที่ผลกระทบต่อผู้ฟัง การสื่อสารด้วยความต้องการเชิงลบ มักทำให้อีกฝ่ายรู้สึกถูกโจมตี ตำหนิ หรือถูกตัดสิน ซึ่งนำไปสู่การตอบสนองที่อาจขยายปัญหาความสัมพันธ์ให้รุนแรงยิ่งขึ้น เช่น การโต้ตอบกลับ หรือการเพิกเฉย นิ่งเงียบใส่กัน ผลที่ตามมาคือความสัมพันธ์จะยิ่งเต็มไปด้วยความขัดแย้ง ในทางตรงกันข้าม การสื่อสารความต้องการเชิงบวก ไม่เพียงแต่ช่วยลดโอกาสในการเกิดความขัดแย้ง แต่ยังช่วยให้คู่ของเราเข้าใจอย่างชัดเจนว่าเราต้องการอะไรจากพวกเขา
อย่างไรก็ตาม ผมเข้าใจว่าเป็นเรื่องธรรมดาที่คนเรามักจะนึกถึงหรือพูดถึงสิ่งที่ไม่ชอบก่อน เพราะสิ่งเหล่านั้นเป็นสิ่งที่ปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจน และส่งผลกระทบต่อความรู้สึกของเราโดยตรง ดังนั้น การปรับเปลี่ยนจากการสื่อสารเชิงลบมาเป็นการสื่อสารเชิงบวกนั้น เราจำเป็นต้องใช้ความพยายามในการสำรวจและทำความเข้าใจตนเองอย่างลึกซึ้งว่า แท้จริงแล้วเราต้องการอะไรกันแน่ เราอยากให้เขาทำอะไร หรือเราอยากได้อะไรจากเขา แต่การตระหนักรู้ถึงความต้องการเชิงบวกนี้ เพียงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอต่อการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ
Gottman ได้นำเสนอรูปแบบการสื่อสารที่ช่วยให้เราสามารถฝึกฝนการสื่อสารความต้องการเชิงบวกได้ โดยมี 3 องค์ประกอบหลัก คือ I feel (ฉันรู้สึก), About what (เกี่ยวกับเรื่องอะไร) และ I need (ฉันต้องการอะไร) หัวใจสำคัญของรูปแบบการสื่อสารนี้ คือการระบุความรู้สึกเชิงลบที่เกิดขึ้นจากสถานการณ์นั้นๆ และค้นหาความต้องการเชิงบวกที่ซ่อนอยู่ เมื่อเราเข้าใจสองสิ่งนี้อย่างถ่องแท้แล้ว เราจึงสามารถนำมาประกอบเป็นประโยคเพื่อสื่อสารออกไปได้
ตัวอย่างเช่น “ฉันรู้สึกโดดเดี่ยวและเหนื่อยล้า (I feel) ที่ต้องเผชิญกับปัญหาความขัดแย้งกับแม่ของคุณเพียงลำพัง (About what) ฉันอยากให้คุณอยู่เคียงข้าง รับฟัง และปลอบโยนฉันบ้าง (I need)” จะเห็นได้ว่าในประโยคนี้ประกอบด้วยความรู้สึก (รู้สึกโดดเดี่ยว เหนื่อยล้า) เกี่ยวกับเรื่องอะไร (การเผชิญปัญหาขัดแย้งเพียงลำพัง) และความต้องการ (อยากให้คุณอยู่เคียงข้าง รับฟัง และปลอบโยน)
หรืออีกตัวอย่างหนึ่ง “ผมรู้สึกอึดอัดและกดดันมากเวลาที่ต้องอยู่ตรงกลางระหว่างคุณกับแม่ของผม (I feel) เพราะรู้สึกเหมือนกำลังถูกคาดหวังจากทั้งสองฝ่าย (About what) ผมอยากขอให้คุณเข้าใจและเห็นใจผมในจุดนี้ และเราสองคนค่อย ๆ หาทางออกร่วมกัน (I need)” ประโยคนี้ก็เช่นกัน เริ่มต้นด้วยความรู้สึก (รู้สึกอึดอัด กดดัน) ตามด้วยสิ่งที่ทำให้รู้สึกเช่นนั้น (ถูกคาดหวังจากทั้งสองฝ่าย) และจบด้วยความต้องการเชิงบวก (อยากขอให้คุณเข้าใจ เห็นใจ และหาทางออกร่วมกัน)

นี่เป็นเพียงสองตัวอย่างเบื้องต้นที่แสดงให้เห็นถึงรูปแบบการสื่อสารทั้ง 3 องค์ประกอบ อย่างไรก็ตาม รายละเอียดในการนำไปใช้จริงย่อมแตกต่างกันไปตามบริบทและความสัมพันธ์ของแต่ละบุคคล
อย่างไรก็ตาม การสื่อสารความต้องการเชิงบวกเป็นเพียงส่วนหนึ่งของกระบวนการแก้ไขปัญหาในความสัมพันธ์เท่านั้น บางครั้ง การสื่อสารด้วยวิธีนี้อาจช่วยให้คุณและคู่ของคุณเข้าใจกันได้ในทันที และนำไปสู่การคลี่คลายของปัญหา แต่ในบางกรณี มันอาจยังไม่เพียงพอ หรือไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น
หากปัญหาของคุณยังคงอยู่และส่งผลกระทบในทางลบต่อความสัมพันธ์มากขึ้นเรื่อย ๆ การขอรับคำปรึกษาจากนักจิตวิทยาการปรึกษาก็อาจเป็นทางเลือกที่ควรพิจารณา เพื่อร่วมกันหาแนวทางในการบำบัดและฟื้นฟูความสัมพันธ์ของคุณทั้งคู่ต่อไป