top of page

เข้าใจกระบวนการเพื่อปรับปรุงผลลัพธ์ที่ต้องการในแบบฉบับของตัวเอง

  • รูปภาพนักเขียน: กวีไกร ม่วงศิริ
    กวีไกร ม่วงศิริ
  • 7 พ.ค. 2567
  • ยาว 1 นาที

อัปเดตเมื่อ 24 พ.ค. 2567

ภรรยาผมเพิ่งลงคอร์สเรียนการทำชาไทยที่ดูเหมือนจะกำลังเป็นที่นิยมในสังคมออนไลน์ ในหลักสูตรดังกล่าวนอกจากผู้สอนจะอธิบายว่ามีกระบวนการอะไรและต้องทำยังไงบ้าง เขายังอธิบายด้วยว่าที่ทำไปแบบนั้นส่งผลต่อผลลัพธ์อย่างไรบ้าง เช่น ระยะเวลาในการต้มใบชามีผลต่อกลิ่นและรสชาติอย่างไร หากอยากให้ชาไม่ขมเกินไปแต่มีกลิ่นหอมมากขึ้นจำเป็นจะต้องทำอย่างไร หรือในทางกลับกันหากอยากให้ชามีรสขมมากขึ้นจะทำอย่างไรได้บ้าง รวมไปถึงความแตกต่างของยี่ห้อนมจะมีผลอย่างไรบ้างกับชา


ความเข้าใจในกระบวนการเอื้ออำนวยให้ผู้เรียนสามารถปรับสูตรเพื่อให้ชาไทยมีกลิ่น สัมผัส และรสชาติในแบบฉบับของตัวเอง นี่ยังไม่นับว่าจริง ๆ แล้วมีสูตรชาไทยอีกหลากหลายรูปแบบที่มีกระบวนการแตกต่างไปจากของผู้สอนท่านนี้ เช่น ชาไทยแบบชัก ชาไทยครีมชีส


หากเปรียบเปรยชาไทยข้างต้นกับการจัดการปัญหาในชีวิต “ชาไทย” ก็คือผลลัพธ์ที่แต่ละคนต้องการซึ่งย่อมแตกต่างกันออกไปได้มากมายทั้งส่วนผสมและกระบวนการขั้นตอน



ตัวอย่างเช่น "การมูฟออน" จากการไม่สมหวังในความรัก สำหรับบางคนการอาจเป็นการไม่จมปลักอยู่กับความเศร้า บางคนอาจเป็นการลดความกังวลเพื่อจะเริ่มความสัมพันธ์ใหม่ บางคนอาจเป็นการให้อภัยอีกฝ่าย จะเห็นได้ว่าหน้าตาของ “การมูฟออน” ของแต่ละคนไม่เหมือนกันเลย อีกทั้งแต่ละหน้าตาก็อาจมีรายละเอียดอื่น ๆ ที่ต่างกันไปได้อีกดังเช่นกลิ่น สัมผัส และรสชาติของชาไทยที่ต้องอาศัยความเข้าใจกระบวนการเพื่อปรับให้ได้สูตรเฉพาะตัว


เพื่อที่จะบรรลุผลลัพธ์ออกมาเป็นชาไทยที่ถูกใจสักแก้ว บางคนอย่างเช่นผู้สอนอาจอาศัยประสบการณ์และทักษะเพื่อทบทวน สังเกต วิเคราะห์ ทดลองจนได้ผลออกมาด้วยตัวเอง หรือบางคนอย่างภรรยาผมและผู้ร่วมเรียนอีกมากมายก็ใช้วิธีเข้าคลาสเรียนเพื่อทำความเข้าใจกระบวนการโดยมีผู้สอนเอื้ออำนวย ได้เรียนรู้ พิจารณา แล้วทดลองทำจะกว่าจะเกิดผลที่ต้องการ


การจะบรรลุผลของการจัดการปัญหาในชีวิตก็ไม่ต่างกัน สำหรับบางคนอาจทำความเข้าใจและหาทางจัดการได้ด้วยตนเอง ในขณะที่บางคนอาจต้องการใครสักคนเอื้ออำนวยให้เกิดความเข้าใจกระบวนการของผลลัพธ์ที่ต้องการ ได้เห็นว่ามีปัจจัยอะไรที่เกี่ยวข้องบ้าง และการลงมือกระทำต่อปัจจัยเหล่านั้นจะมีผลอย่างไรบ้างต่อผลลัพธ์ เพื่อที่จะปรับแต่งให้ได้กลิ่น สัมผัส และรสชาติที่ลงตัวในแบบฉบับของตัวเขาเอง


 

กวีไกร ม่วงศิริ
นักจิตวิทยาการปรึกษา

©2017 KNOWING MIND CENTER

bottom of page