top of page

เราต่างมีความเปราะบางในตัวเอง

  • รูปภาพนักเขียน: ธารีวรรณ เทียมเมฆ
    ธารีวรรณ เทียมเมฆ
  • 24 มี.ค.
  • ยาว 1 นาที

ความเปราะบาง (vulnerability) ไม่ใช่เรื่องของใครคนใดคนหนึ่ง ไม่ใช่แค่เรื่องของคนที่มีบาดแผลทางใจ หรือผู้ที่ไวต่อความรู้สึก แต่ในความเป็นมนุษย์ เราทุกคนล้วนเปราะบางต่อการถูกกระทบให้หวั่นไหวไปในทางบวกและลบอยู่เสมอ


คำว่า vulnerability มาจากภาษาลาตินคือ vulnerare หมายถึงการถูกทำให้บาดเจ็บได้ ซึ่งใช้ในบริบททางกายภาพ ก่อนที่จะถูกนำมาใช้ในบริบททางด้านจิตใจเมื่อศตวรรษที่ผ่านมานี้เอง ในทางจิตใจความเปราะบางหมายถึงความเสี่ยงต่อความเจ็บปวดหรือความทุกข์ ใครบ้างเล่าที่ไม่มีความเสี่ยงนี้?


การที่เราเปราะบางไม่ใช่เรื่องดีหรือแย่ มันแค่เป็นความจริงอย่างหนึ่งของชีวิตที่เราต้องยอมรับ เรามีความเปราะบางของความเป็นมนุษย์ร่วมกันอยู่มาก ชีวิตของเราดำเนินอยู่บนเส้นทางของการเกิดแก่เจ็บตาย เราเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีและร้าย เราประสบพบเจอกับสิ่งที่พอใจและไม่น่าพอใจ เราต้องพลัดพรากจากสิ่งที่รักและสูญเสียสิ่งที่มีค่า หรือแม้กระทั่งต้องจำใจรับกับสิ่งที่ไม่เคยต้องการ เช่น โรคร้าย


แต่ในขณะเดียวกันเราแต่ละคนก็มีความเปราะบางเฉพาะตัวของตัวเอง เราเติบโตมาพร้อมกับบาดแผลที่เล็กบ้างใหญ่บ้างไปตามประสบการณ์ชีวิต บางคนอาจเปราะบางต่อความรู้สึกถูกทอดทิ้งมากกว่าคนอื่น ในขณะที่อีกคนอาจหวั่นไหวต่อคำวิจารณ์มากกว่าอีกคน พูดง่าย ๆ คือ เราล้วนสุขทุกข์สงบและหวั่นไหวไปตามเหตุปัจจัยในชีวิตที่ประกอบขึ้นเป็นตัวเรา



นักจิตวิทยากับผู้มาปรึกษาล้วนเป็นมนุษย์ผู้ที่มีความเปราะบางไม่ต่างกัน เพียงแค่เราอยู่ในบทบาทที่ไม่เหมือนกัน ฝ่ายหนึ่งคือผู้ช่วยเหลือ อีกฝ่ายหนึ่งคือผู้ต้องการความช่วยเหลือ แต่เมื่อเอาบทบาทสมมุตินี้ออกไป เราทุกคนต่างกำลังเดินทางอยู่บนความเปราะบางของชีวิต ในวันเวลาที่เราสามารถรับมือความเปราะบางของตัวเองได้ เราก็สามารถช่วยผู้อื่นดูแลความเปราะบางของพวกเขาได้


โดยทั่วไป เรามักมีมุมมองทางลบต่อความเปราะบาง บางคนมองว่าความเปราะบางคือความอ่อนแอ คือความเสี่ยงที่จะถูกทำร้าย ไปจนถึงเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดปัญหาทางจิตใจ ความเปราะบางจึงต้องถูกขจัด เยียวยารักษา และเปลี่ยยแปลงให้เป็นความแข็งแกร่ง แต่ความเสี่ยงที่แท้จริงคือการไม่ยอมรับความเปราะบางของตัวเองต่างหาก


ในฐานะนักจิตวิทยาการปรึกษา ข้าพเจ้าคิดว่าเรื่องที่ย้อนแย้งในเรื่องนี้คือเมื่อใดก็ตามที่คุณสามารถยอมรับความเปราะบางของตัวเอง และต้อนรับมันว่าเป็นส่วนหนึ่งในความเป็นมนุษย์ของคุณ เมื่อนั้นคุณจะแข็งแกร่งขึ้นจากความเปราะบาง แต่ถ้าหากคุณพยายามที่จะเข้มแข็งและปฏิเสธความเปราะบางของตัวเอง นั่นแหละคือความเปราะบางที่แท้จริง คือความเสี่ยงที่จะเจ็บปวดโดยไม่รู้ตัว


ถึงที่สุดแล้ว สิ่งที่เรียกว่าความเปราะบางหรือความเข้มแข็งนั้นไม่ใช่ความจริงในตัวเอง มันเป็นเพียงคำนิยามที่ใครสักคนประดิษฐ์ขึ้นเพื่ออธิบายความจริงเกี่ยวกับตัวเรา ความจริงที่เป็นเช่นนั้นเอง ความจริงที่เป็นไปตามกฎของธรรมชาติ การสร้างนิยามคือการกำหนดขอบเขต และเมื่อเรากำหนดขอบเขตให้กับสิ่งใด เราก็กำลังจำกัดสิ่งนั้นไว้ในแนวคิดที่เป็นจริงเพียงบางส่วน ซึ่งก็เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ เพื่อการสื่อสารให้เข้าใจตรงกัน แต่เราต้องไม่ยึดติดกับมันมากเกินไป


เขียนมาถึงตรงนี้ สิ่งที่ข้าพเจ้าอยากบอกจริง ๆ มีเพียงเราทุกคนต่างมีความเปราะบางในตัวเอง เมื่อเรารับรู้และยอมรับในความเปราะบางของตัวเองได้ เราก็สามารถมองเห็นและเข้าใจความเปราะบางของผู้อื่นได้ และเมื่อเราเรียนรู้ที่จะต้อนรับและอยู่กับความเปราะบางของตัวเองได้ เราก็สามารถช่วยให้ผู้อื่นต้อนรับและอยู่ร่วมกับความเปราะบางของพวกเขาได้เช่นกัน


ในช่วงเวลาหนึ่งของชีวิต ขอให้เรายอมจะหันหน้ามาเผชิญและดูแลความเปราะบางของตนเอง และถ้าพอจะไหว เราอาจช่วยดูแลความเปราะบางซึ่งกันและกัน เพราะว่าชีวิตนั้นช่างเปราะบาง การใช้วันเวลา ณ ปัจจุบันนี้ ที่นี่ เดี๋ยวนี้ กับคนตรงหน้านี้จึงมีคุณค่าและความหมายที่สุด ก่อนที่วันหนึ่งในอนาคตอีกไม่นาน ชีวิตที่เปราะบางของพวกเราทุกคนก็จะไม่ได้ดำรงอยู่ตรงนี้อีกต่อไป


การยอมรับความเปราะบาง จึงไม่ใช่การยอมจำนน หากแต่เป็นการเผชิญหน้า และทำให้ชีวิตนี้มีคุณค่าและความหมาย


 

ธารีวรรณ เทียมเมฆ
นักจิตวิทยาการปรึกษา

โนอิ้งมายด์เซ็นเตอร์
ศูนย์บริการการปรึกษาเชิงจิตวิทยาและการส่งเสริมสุขภาวะ

ปรึกษาปัญหาชีวิตและปัญหาสุขภาพจิต
ติดต่อทำนัดได้ที่ 0654154417

©2017 KNOWING MIND CENTER

bottom of page