วอลแตร์ นักปรัชญาชาวฝรั่งเคส เคยกล่าวว่า
"ความสมบูรณ์แบบเป็นศัตรูตัวร้ายของสิ่งที่ดี"
ผมเห็นด้วยกับนักปรัชญาผู้นี้อย่างไม่มีข้อสงสัย ทั้งจากประสบการณ์ส่วนตัวและประสบการณ์ในการทำงานเป็นนักจิตวิทยา ลำพังการพาตัวเองมานั่งเขียนบทความนี้ก็ต้องต่อสู้กับความต้องการความสมบูรณ์แบบอยู่พอสมควร แม้จะรู้ว่าตัวเองเป็นเพียงนักจิตวิทยาที่การขีดเขียนเป็นเพียงงานอดิเรก แต่เมื่อคิดจะลงมือเขียนอะไรบางอย่างแล้ว ก็อดไม่ได้ที่จะคาดหวังว่ามันจะออกมาดี
ในด้านหนึ่ง การนิยมความสมบูรณ์แบบ หรือที่เรียกกันว่า perfectionism ดูเหมือนจะเป็นเรื่องดี เพราะมันผลักดันให้เรามุ่งมั่นตั้งใจทำสิ่งต่าง ๆ เพื่อผลลัพธ์ที่ดีที่สุด แต่มันก็เหมือนดาบสองคมที่อีกด้านก็สร้างความกดดันและความเครียดในการลงมือทำไปพร้อมกัน หรือที่แย่ไปกว่านั้นคือ มันสร้างความกังวลว่าสิ่งที่เราทำจะไม่สมบูรณ์แบบดั่งใจจนเราไม่กล้าลงมือทำอะไรเลย ถึงที่สุดแล้ว ไม่ว่าเราจะตั้งใจทำแค่ไหน เราก็ไม่เคยพอใจสิ่งที่ทำได้อยู่ดี
ผมเคยอ่านงานวิจัยของกอร์ดอน เฟล็ทท์ (Gordon Flett) และพอล เฮวิตท์ (Paul Hewitt) นักจิตวิทยาคลินิกชาวแคนาดา พบประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับการนิยมความสมบูรณ์แบบ พวกเขาเสนอว่า perfectionism ไม่ได้มีแค่ความคาดหวังความสมบูรณ์แบบจากตนเอง หรือที่เรียกว่า self-oriented perfectionism เท่านั้น แต่ยังมี perfectionism รูปแบบอื่น ๆ อีก ได้แก่ ความคาดหวังว่าคนรอบข้างจะทำสิ่งต่าง ๆ ได้สมบูรณ์แบบ หรือเรียกในชื่อภาษาอังกฤษว่า other-oriented perfectionism และความกดดันจากการถูกผู้อื่นคาดหวังว่าตัวเองจะต้องสมบูรณ์แบบ หรือ socially prescribed perfectionism
แต่ไม่ว่าเราจะนิยมความสมบูรณ์แบบในรูปแบบใด ปัญหาก็อยู่ตรงที่เดียวกันคือ เรากำลังไขว่คว้าสิ่งที่ไม่มีอยู่จริง ความสมบูรณ์แบบคือจุดหมายที่เราไม่มีวันเดินทางไปถึง เพราะเมื่อใดก็ตามที่เราบรรลุถึงมัน เราก็จะพบความสมบูรณ์แบบกว่ารออยู่เสมอ เปรียบเหมือนเรากำลังวิ่งอยู่บนลู่วิ่งไฟฟ้า ที่ไม่ว่าเราจะก้าวเท้าไปข้างหน้ามากเพียงใด เราก็จะพบว่าสายพานที่อยู่ตรงหน้านั้นไม่มีวันสิ้นสุด แม้เราจะรู้ว่าการวิ่งต่อไม่ได้ช่วยให้เราไปถึงจุดหมาย แต่การหยุดวิ่งก็เป็นสิ่งที่น่าหวาดหวั่นยิ่งกว่า
บางทีการยอมรับความจริงว่าเราเป็นมนุษย์ที่ไม่สมบูรณ์และไม่มีวันจะสมบูรณ์ เพื่อให้เราเลิกดิ้นรนไขว่คว้าอุดมคติที่ไม่มีทางเป็นจริง อาจเป็นทางออกของการพาตัวเองออกจากกับดักของการนิยมความสมบูรณ์แบบ หรืออย่างน้อยที่สุดถ้ายังยอมรับไม่ได้ ก็ขอให้รู้ตัวว่าเรากำลังเป็นพวกนิยมความสมบูรณ์แบบรูปแบบใด เราคาดหวังกับตัวเองมากไป หรือคาดหวังไว้สูงกับผู้อื่น หรือเรากำลังแบกรับความคาดหวังของใครอยู่
เขียนมาถึงตรงนี้ ผมคงต้องบอกตัวเองให้ไม่คาดหวังว่าบทความนี้จะต้องจบลงแบบที่มอบความเข้าใจที่ลึกซึ้งในเรื่องนี้ให้ผู้อ่าน ดังนั้น ผมก็ขอจบบทความนี้ดื้อ ๆ โดยไม่ต้องสมบูรณ์แบบด้วยคำพูดของฟริทซ์ เพิร์ลส์ (Fritz Perls) ผู้ริเริ่มการบำบัดแนวเกสตัลท์ (Gestalt Therapy) ที่ตัวเองเคยบันทึกไว้เตือนใจ ดังนี้ครับ
“เพื่อนเอ๋ย จงอย่าเป็นพวกนิยมความสมบูรณ์แบบ ความสมบูรณ์แบบคือคำสาปและความตึงเครียด เธอหวั่นไหวก็เพราะกลัวว่าจะทำไม่ได้ตามเป้าหมาย เธอสมบูรณ์พร้อมแล้วเพียงแค่ปล่อยให้มันเป็นไป”